0 2583 8035,
09 8995 4650
ISO 9001:2015 Certified

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ Thermal Conductivity

รายละเอียด

อีกพารามิเตอร์หนึ่งที่สำคัญมากเวลาต้องเลือกใช้ฉนวนให้เหมาะกับงานก็คือค่า Thermal Conductivity (ค่าการนำความร้อน) ซึ่งเป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถของวัสดุในการถ่ายเทความร้อนผ่านตัวมันเอง ค่านี้บ่งบอกถึงการที่พลังงานความร้อนเคลื่อนที่จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่งภายในวัสดุผ่านกระบวนการนำความร้อน หรือกล่าวได้ว่า Thermal Conductivity คือค่าที่ช่วยประเมินประสิทธิภาพของวัสดุในการถ่ายเทความร้อน โดยฉนวนที่มีค่าการนำความร้อนต่ำ (Low Thermal Conductivity) จะสามารถป้องกันการสูญเสียหรือรับความร้อนได้ดีกว่าฉนวนที่มีค่าการนำความร้อนสูง (High Thermal Conductivity)  จึงเหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการลดอุณหภูมิให้ลงมาได้มากที่สุด และมีเรื่องน่ารู้ที่สำคัญดังนี้

  • วัสดุที่มีค่าการนำความร้อนต่ำ (Low Thermal Conductivity) จะถ่ายเทความร้อนได้ช้าหรือยาก ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานเป็นฉนวนกันความร้อน ยิ่งมีค่าต่ำยิ่งลดอุณหภูมิได้ดี
  • วัสดุที่มีค่าการนำความร้อนสูง (High Thermal Conductivity) จะถ่ายเทความร้อนได้รวดเร็ว เช่น โลหะ ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานที่ต้องการถ่ายเทความร้อน
  • หน่วยวัดของ Thermal Conductivity มีหน่วยเป็น วัตต์ต่อเมตรต่อเคลวิน (W/m·K) ยิ่งมีค่าต่ำหรือตัวเลขน้อย แสดงว่าวัสดุจะมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดี (ยิ่งน้อยยิ่งดี)
  • หากเราทราบความหนาและค่าการนำความร้อนของฉนวนที่จะเลือกใช้ เราสามารถนำมาใช้คำนวณหาอุณหภูมิที่ลดลงหลังจากติดตั้งฉนวนรุ่นนั้นได้ (Before vs After Temperature)
  • ตัวอย่างค่าการนำความร้อนในวัสดุฉนวนทนความร้อน

ฉนวนใยแก้ว (Fiberglass): 0.041 – 0.125 W/m·K

ฉนวนเซรามิค (Ceramic Fiber): 0.06 – 0.17 W/m·K

ฉนวนใยหิน (Mineral Wool): 0.05 – 0.18 W/m·K

ฉนวนแอโรเจล (Aerogel): 0.013 – 0.066 W/m·K (ต่ำมาก)

ข้อควรทราบ หากอ้างอิงตามมาตรฐาน ATSM C335 จะมีการแนะนำค่าการนำความร้อนสูงสุด (Max Thermal Conductivity) ของฉนวนกันความร้อน ที่อุณหภูมิ 200 องศาเซลเซียส ไม่ควรเกินกว่า 0.065 W/m·K และที่อุณหภูมิ 450 องศาเซลเซียส ไม่ควรเกินกว่า 0.073 W/m·K

Tag
แชร์